ตำบลพะตง หาดใหญ่ เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอดีต โดยในปี
พ.ศ. 2318 เมื่อเกิดเหตุการณ์กบถเมืองไทรบุรี
กองทัพไทยใช้หาดใหญ่เป็นแนวป้องกันเมืองสงขลา
และพัทลุงจากการโจมตีของกบถเมืองไทรบุรี
ปรากฎในพงศาวดารเมืองสงขลา เรียบเรียงโดยพระยาวิเชียรคีรี (ชม)
กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า
"พระยาสุนทรารักษ์(บุญสงข์)ช่วยราชการเมืองสงขลา
แต่งให้ขุนต่างตากุมไพร่ 500 คน ไปตั้งค่ายมั่นรักษาอยู่ที่
"พะตง" ที่การำริมเขตแดนเมืองไทรบุรี
ภายหลังจากการก่อกบถของเมืองไทรบุรีสิ้นสุดลง
การติดต่อระหว่างสงขลากับไทรบุรีเพิ่มมากขึ้นจนเส้นทางหาดใหญ่
พะตง พังลา ปริก และสะเดา กลายเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญ
ในปี พ.ศ. 2405
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างถนนติดต่อระหว่างเมือง
สงขลา เมืองไทรบุรี ทำให้เมืองต่าง ๆ
ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายดังกล่าวเริ่มมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ตามเส้นทาง
พระสฤษดิ์พจนกรณ์ ได้บันทึกไว้ใน
"รายงานว่าด้วยการตรวจแหลมมลายูในพระราชอาณาเขต ร.ศ. 113 (พ.ศ.
2437)" ว่าขณะนั้นเมืองสงขลา แขวงเมืองแบ่งเป็น 15 ส่วน
เรียกว่าอำเภอ ได้แก่ อำเภอคลัง อำเภอเมือง อำเภอนา อำเภอวัง
อำเภอจะทิ้ง อำเภอพะโคะ อำเภอระโนด อำเภอจะนะ อำเภอพะวง
อำเภอวังชิง "อำเภอพะตง" อำเภอการำ อำเภอกำแพงเพชร
อำเภอรัตภูมิ และอำเภอพะเกิด ต่อมา พระยาวิเชียรคีรี(ชม)
เจ้าเมืองสงขลาเห็นว่ากรมการในเมืองสงขลามีมาก
ไม่มีประโยนช์อันใดจึงได้ยกเลิกนายอำเภอเสีย
ในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ที่ทำการกำนันตำบลพะตงตั้งอยู่บริเวณบ้านควนเนียง
ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งสำนักงานเทศบาลตำบลพะตงในปัจจุบัน
ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 3 กิโลเมตร