ลักษณะที่ตั้ง/อาณาเขต
สำนักงานเทศบาลตำบลพะตง ตั้งอยู่ ณ 25 ถนนเทศบาล 4 ตำบลพะตง
อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยพื้นที่ 6.68
ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 บางส่วน
และหมู่ที่ 8 บางส่วน ของตำบลพะตง
โดยมีอาณาเขตติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ เทศบาลตำบลบ้านไร่
อำเภอหาดใหญ่
ทิศใต้
ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลพังลา อำเภอสะเดา
ทิศตะวันออก
ติดต่อกับ องค์การบริหารส่วนตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่
ทิศตะวันตก
ติดต่อกับ เทศบาลตำบลทุ่งลาน อำเภอคลองหอยโข่ง
อยู่ห่างจากอำเภอหาดใหญ่ ประมาณ 20 กิโลเมตร
อยู่ห่างจากจังหวัดสงขลา ประมาณ 50 กิโลเมตร
และมีถนนกาญจนวนิชเป็นถนนสายหลัก
เส้นทางสายนี้ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดสงขลาและประเทศไทย
เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศมุ่งสู่ประเทศมาเลเซีย
ด้านรัฐเคดาห์(ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์)
ลักษณะภูมิประเทศ
เทศบาลตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลาดต่ำจากทิศตะวันออก
ไปทิศตะวันตกมีลำคลองไหลผ่านจากทิศตะวันออก
ไปทางทิศตะวันตกลงสู่คลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นแนวเขตเทศบาล จำนวน
5 คลอง คือ คลองหินเหล็กไฟ คลองแทงแม่ คลองตง คลองประตู
และคลองช้างตาย ลำคลองทั้ง 5 สาย
มีสภาพคดเคี้ยวมากทำให้เมื่อฝนตกหนักติดต่อกันจะเกิดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน
- ธันวาคม ของทุกปี
ลักษณะภูมิอากาศ
เทศบาลตำบลพะตงอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ กลางวันอากาศไม่ร้อนจัด มีอากาศค่อนข้างเย็น ในเวลากลางคืน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมทะเล มีภูเขาล้อมรอบ ตั้งอยู่บนเส้นละติจูด (เส้นรุ้ง) ที่ 6◌ 50◌ 45◌ N (องศาเหนือ) และเส้นลองติจูด (เส้นแวง) ที่ 100◌ 28◌ 32◌ E (องศาตะวันออก) ประกอบด้วยลักษณะภูมิอากาศแบ่งเป็น 2 ฤดู คือฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม และช่วงที่ 2 เริ่มตั้งแต่ เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 24 องศา - 33 องศา ความชื้นสัมพัทธ์ โดยเฉลี่ย 80 %
ประชากร
ประชากรในเขตเทศบาลตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์มีประมาณ 7,000 คน แต่มีประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบอาชีพรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และนักเรียนที่มาเรียนหนังสือ ในเขตเทศบาลประมาณ 20,000 คน และมีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนกับเทศบาลอีกประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ
การมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการเมือง - การบริหาร
เทศบาลตำบลพะตงมีการจัดตั้งชุมชนจำนวน 9 ชุมชน มีคณะกรรมการชุมชนทำหน้าที่บริหารงานชุมชน โดยเทศบาลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ความช่วยเหลือและให้ผู้แทนชุมชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและองค์กรประชาชนเข้าร่วมประชุมกับเทศบาล เพื่อเสนอปัญหา แนะแนวทางแก้ไข วางแผนพัฒนาเทศบาล และร่วมเป็นกรรมการในกิจกรรมต่างๆ และตรวจสอบการบริหารงานของเทศบาลตามอำนาจหน้าที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
ข้อมูลชุมชนในเขตเทศบาล
1.ชุมชนบ้านสวนมะพร้าว
2.ชุมชนบ้านย่านยาวออก
3.ชุมชนตลาด
4.ชุมชนประธานคีรีวัฒน์
5.ชุมชนต้นลุง
6.ชุมชนบ้านหลบมุม
7.ชุมชนบ้านอุดมทอง
8.ชุมชนสวนสุขภาพ
9.ชุมชนบ้านแสนสุข
สาธารณสุข
ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลตำบลพะตง และใกล้เคียงสามารถใช้บริการการรักษาสุขภาพได้จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในส่วนภาครัฐมีหน่วยงานที่ให้บริการคือ ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลพะตง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเฉลิมพระเกียรติตำบลพะตง (สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯตำบลพะตง)
ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลตำบลพะตง
พันธกิจ : กลุ่มป่วยในเขตพื้นที่ตำบลพะตง บ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอใกล้เคียง เข้าถึงบริการปฐมภูมิที่เป็นเลิศ อย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง เป็นองค์รวม มีประสิทธิผลและปลอดภัย ภายใต้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายในพื้นที่
ขอบเขตบริการ : ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุม รักษา และฟื้นฟูสภาพ กายภาพบำบัด COC เภสัชกรรมปฐมภูมิ ทันตกรรม การแพทย์ทางเลือก
ผู้รับบริการและความต้องการ :
ผู้ป่วย/ญาติ : ความรวดเร็ว ข้อมูลการดูแล เป็นกันเอง ความเข้าใจ
ประชาชนในพื้นที่ : สุขภาพดี การเข้าถึงบริการที่สะดวก
เครือข่าย : ความไว้วางใจ การสนับสนุน การมีส่วนร่วม
จุดเน้นการพัฒนา : การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง LTC COC RISK MANAGEMENT
การคมนาคมขนส่ง
การคมนาคมทางบก ถนนกาญจนวานิชเป็นเส้นทางสายหลักเชื่อมระหว่างอำเภอหาดใหญ่มุ่งสู่ประเทศมาเลเซีย ที่ด่านพรมแดนด่านนอกเชื่อมต่อกับรัฐเคดาห์ และด่านพรมแดนปาดังเบซาร์เชื่อมต่อกับรัฐเปอร์ริส โดยเทศบาลตำบลพะตงเป็นประตูสู่เมืองหาดใหญ่ของนักท่องเที่ยว โดยสามารถเดินทางได้ ทางรถยนต์ บนทางหลวงหมายเลข 4
การคมนาคมทางน้ำ เทศบาลตำบลพะตงมีคลองผ่านพื้นที่จำนวน 6 สาย คือ คลองตง คลองแทงแม่ คลองหินเหล็กไฟ คลองประตู คลองช้างตาย และคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นคลองใหญ่ที่สุด ปัจจุบันการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น ประชาชนจึงเดินทางโดยใช้ถนน ทำให้คลองลดความสำคัญลง
การจราจร/การขนส่ง การจราจรในเขตเทศบาลตำบลพะตงยังคล่องตัว มีปริมาณการจราจรหนาแน่นมากในช่วงเช้าและหลังจากโรงเรียนเลิก เส้นทางการจราจรสายหลัก คือ ถนนกาญจนวนิช
โดยมีถนนและซอยแยกออกไปตามชุมชนต่างๆ
ระบบเศรษฐกิจ
ประชาชนในเขตเทศบาล ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย เกษตรกรรม รับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมและรับราชการ โดยตั้งบ้านเรือน ตลาด ร้านค้า และบริษัท ตลอดแนวถนนกาญจนวนิชทั้งสองฝั่งอย่างหนาแน่น เพราะเป็นศูนย์ธุรกิจการค้าของเมืองแล้วจึงกระจายออกด้านทิศตะวันตก เนื่องจาก ด้านทิศตะวันออกติดทางรถไฟ ในอนาคตการขยายตัวของเมือง มีแนวโน้มขยายไปตามแนว
ถนนกาญจนวนิช ถนนเทศบาล ๔ และถนนเทศบาล ๔๙ เฉลี่ยรายได้ประชากรต่อหัวต่อปี ประมาณ 144,000 บาท
การเกษตร
ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลพะตงมีสวนยางพารา สวนปาล์ม สวนผลไม้ บางครัวเรือนเป็นอาชีพหลัก บางครัวเรือนเป็นอาชีพรอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นยางพารา
การอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลมีทั้งโรงงานขนาดใหญ่ ขนาดกลางและโรงงานขนาดเล็ก ผลิตสินค้าต่างๆ หลายชนิด เช่น ถุงมือแพทย์ ถุงนิ้วมือ กระดาษเคลือบเมลามีน กาว น้ำยางข้น อิฐบล็อคพลาสติก เฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา เป็นต้น
การนับถือศาสนา
ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลพะตงส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายจีนและนับถือศาสนาพุทธ โดยนับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามเป็นส่วนน้อย
สินค้าพื้นเมือง
ในพื้นที่เทศบาลตำบลพะตงมีร้านอาหารขึ้นชื่อ คือ ร้านข้าวมันไก่ทุ่งลุง ซึ่งเป็นร้านที่มีชื่อเสียง เป็นอย่างมากและเป็นสัญลักษณ์ของตำบลพะตง เปิดร้านมายาวนานกว่า 60 ปี มีลูกค้าคนไทยและ คนต่างชาติ เช่น มาเลเซีย สิงค์โปร์ มาใช้บริการเป็นจำนวนมากเป็นประจำทุกวัน จุดเด่นของร้านจะเลือกใช้ไก่บ้านทำสดใหม่ทุกวัน และเคล็ดลับการหุงข้าวมันที่หอมกลมกล่อม เรียงเม็ดสวยงาม เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลาประมาณ 15.00 น.
ทรัพยากรธรรมชาติ
เทศบาลตำบลพะตง มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านหลายสาย ได้แก่
คลองตง ไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้าน ตั้งแต่หมู่ที่ 2 บางส่วน ถึงหมู่ที่ 1 (ชุมชนประธานคีรีวัฒน์ ชุมชนต้นลุง ชุมชนสวนสุขภาพ ชุมชนตลาด)
คลองอู่ตะเภาไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้านตั้งแต่หมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 1 (ชุมชนตลาด ชุมชนย่านยาวออก)
คลองหินเหล็กไฟ ไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้าน ตั้งแต่หมู่ที่ 2 บางส่วน ถึงหมู่ที่ 1 (ชุมชนบ้านสวนมะพร้าว)
คลองประตู ไหลผ่านพื้นที่หมู่บ้าน ตั้งแต่หมู่ที่ 8 บางส่วน ถึงหมู่ที่ 8 บางส่วน (ชุมชนบ้านหลบมุม)
ฤดูแล้งจะมีสภาพตื้นเขิน ฤดูฝนจะมีน้ำมาก การระบายน้ำในช่วงฤดูฝนไม่สะดวกเนื่องจากลำคลองมีความคดเคี้ยวมาก เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้ น้ำระบายลงสู่คลองอู่ตะเภาได้ช้าส่งผลให้น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนเกือบทุกปี ซึ่งเทศบาลได้หาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น การขุดลอกคลองอู่ตะเภา การขุดลอกคลองตง และขุดลอกคูระบายน้ำทุกชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังให้กับประชาชน
ป่าไม้ในเขตเทศบาลเป็นป่าไม้เกษตรกรรมที่เกิดจากการปลูกยางพาราประมาณ ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และเป็นอาชีพที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนแต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคายางพาราตกต่ำติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ประชาชนจึงหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น